ปืนไรเฟิล

วันอาทิตย์ที่ 18 กันยายน พ.ศ. 2554

สงครามเกาหลี


สงครามเกาหลี เป็นความขัดแย้งทางทหารระหว่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ) กับสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) โดยเกาหลีเหนือได้รับการสนับสนุนทางการทหารจากสาธารณรัฐประชาชนจีนและสหภาพโซเวียต ส่วนเกาหลีใต้ได้รับความช่วยเหลือและการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติ โดยเริ่มตั้งแต่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950 (พ.ศ. 2493) จนถึงการลงนามในสัญญาหยุดยิงของทั้งสองฝ่ายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496) สงครามครั้งนี้เป็นผลมาจากการแบ่งแยกประเทศเกาหลีทางการเมืองด้วยข้อตกลงของฝ่ายสัมพันธมิตรในการปลดอาวุธกองทัพญี่ปุ่นเมื่อสิ้นสุดสงครามมหาเอเชียบูรพา กล่าวคือ บริเวณคาบสมุทรเกาหลีอยู่ภายใต้การปกครองของจักรวรรดิญี่ปุ่นนับตั้งแต่ ค.ศ. 1910 จนกระทั่งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนต่อสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 1945 นั้น คณะผู้บริหารญี่ปุ่นฝ่ายอเมริกาได้แบ่งให้กองทัพสหรัฐอเมริกาเข้าปลดอาวุธทหารญี่ปุ่นในเขตตั้งแต่เส้นขนานที่ 38 องศาเหนือลงมา ส่วนบริเวณที่อยู่เหนือเส้นขนานที่ 38 องศาเหนือนั้นอยู่ในความควบคุมของสหภาพโซเวียต[25]
ความล้มเหลวในการจัดการเลือกตั้งอย่างเสรีในคาบสมุทรเกาหลีในปี ค.ศ. 1948 ทำให้ความแตกแยกของประเทศเกาหลีทั้งสองฝั่งร้าวลึก ประเทศเกาหลีฝั่งเหนือได้จัดตั้งรัฐบาลคอมมิวนิสต์ขึ้น เส้นขนานที่ 38 องศาเหนือได้กลายเป็นเส่นแบ่งแดนระหว่างทั้งสองเกาหลีไปโดยปริยาย แม้การเจรจาเพื่อการรวมชาติจะดำเนินต่อไปในช่วงหลายเดือนก่อนเกิดสงครามก็ตาม แต่สถานการณ์ยังคงตึงเครียด ยังคงมีการรบพุ่งและการปล้นสะดมตามแนวตะเข็บชายแดน สถานการณ์ได้บานปลายไปสู่การทำสงครามแบบเปิดเผยเมื่อเกาหลีเหนือส่งกองทัพบุกเข้าสู่เกาหลีใต้ในวันที่ 25 มิถุนายน ค.ศ. 1950[26] การรุกดังกล่าวกลายเป็นความขัดแย้งทางทหารครั้งสำคัญครั้งแรกที่เกิดขึ้นในยุคสงครามเย็น[27]
องค์การสหประชาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือสหรัฐอเมริกา ได้ยื่นมือให้ความช่วยเหลือเกาหลีใต้ในการขับไล่ผู้รุกราน หลังจากในช่วงต้นสงคราม สหประชาชาติได้ทำการส่งกองกำลังเข้ามาขับไล่กองทัพเกาหลีเหนือจนถอยร่นจากเส้นขนานที่ 38 จนเกือบถึงแม่น้ำยาลู สาธารณรัฐประชาชนจีนจึงได้ประกาศให้ความช่วยเหลือกองทัพคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือ [26] การต่อต้านการรุกรานเกาหลีเหนือโดยกองทัพจีนทำให้ฝ่ายสหประชาชาติต้องถอยร่นกลับมาที่แนวเส้นขนานที่ 38 ด้านสหภาพโซเวียตได้ให้การช่วยเหลือจีนและเกาหลีเหนือด้วยการสนับสนุนด้านอาวุธ ภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ได้ยุติลงในการลงนามในสัญญาหยุดยิงซึ่งกำหนดให้ทั้งสองเกาหลีคงเขตแดนของตนไว้ตามแนวเส้นขนานที่ 38 องศาเหนือ และกำหนดเขตปลอดทหาร (DMZ) ในระยะ 2.5 ไมล์ (4 กม.) เป็นกันชนตามแนวพรมแดนของทั้งสองประเทศ
ระหว่างสงคราม ทั้งเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ต่างก็ได้รับการสนับสนุนจากชาติมหาอำนาจ ทำให้สงครามดังกล่าวแปรสภาพจากสงครามกลางเมืองไปสู่สงครามตัวแทนระหว่างขั้วอำนาจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงครามเย็น ในมุมมองของวิทยาศาสตร์การทหาร (military science) สงครามเกาหลีเป็นการผสานแผนยุทธการและยุทธวิธีของทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1 และสงครามโลกครั้งที่ 2 กล่าวคือ ใช้วิธีการจู่โจมอย่างรวดเร็วด้วยทหารราบและสนับสนุนด้วยการจู่โจมทางอากาศเพื่อทิ้งระเบิดในทางยุทธวิธี การปฏิบัติการรบแบบเคลื่อนที่ได้เปลี่ยนไปสู่การทำสงครามสนามเพลาะนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1951 จนกระทั่งถึงช่วงคุมเชิงและทำสัญญาหยุดยิงในปี ค.ศ. 1953

ประวัติ

แนวเขตยึดครองของเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ระหว่างการสู้รบ สีแดงคือฝั่งเกาหลีเหนือ สีเขียวคือฝั่งเกาหลีใต้ เส้นขนานกลางภาพคือเส้นขนาน (เส้นรุ้ง) ที่ 38 องศาเหนือ
ประเทศเกาหลีโดนยึดครองโดยประเทศญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หลังจากญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ ประเทศเกาหลีได้รับอิสระ สหรัฐอเมริกาได้ช่วยญี่ปุ่นในการฟื้นฟูดินแดน เนื่องด้วยเกาหลีอยู่ติดกับประเทศอื่นๆรอบด้าน โดยด้านเหนือของเกาหลีติดกับประเทศจีน และทางใต้ติดกับญี่ปุ่นซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของอเมริกานั้น การปกครองที่แตกต่างของประเทศรอบด้านจึงเข้ามามีอิทธิพลต่อประเทศเล็กๆที่อยู่ตรงกลางระหว่างมหาอำนาจ จีนและสหภาพโซเวียดที่มีการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ญี่ปุ่นและอเมริกาที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย เกาหลีที่ซึ่งได้รับอิสรภาพ จำเป็นต้องมีผู้นำ แต่หากว่าประชากรที่มีในขณะนั้นมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป ส่วนที่ติดกับจีนก็เห็นว่าการปกครองแบบคอมมิวนิสต์เป็นสิ่งที่ดี แต่อีกด้านที่อยู่ติดกับญี่ปุ่นและอเมริกาก็เห็นว่าการปกครองแบบประชาธิปไตยดี จึงเป็นเหตุให้เกิดการแบ่งแยกการปกครองออกเป็นสองแบบ คือแบบคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย เมื่อเกาหลีทั้งสองชาติมีความเห็นที่ต่างกันแล้ว เกาหลีที่รับการปกครองแบบคอมมิวนิสต์มานั้น มีความต้องการอยากที่จะให้เกาหลีที่มีการปกครองที่ต่างกันมีการรวมชาติให้เป็นหนึ่งเดียวกัน จึงส่งกำลังทหารเข้ายึดเกาหลีส่วนที่รับการปกครองแบบประชาธิปไตย ด้วยวิธีการรวมชาติแบบที่ผิดไป จึงทำให้เกิดสงครามเกาหลีขึ้น จึงเป็นเหตุให้เกาหลีแบ่งออกเป็นสองส่วน คือเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ โดยมีเส้นแบ่งอยู่ที่เส้นขนานที่ 38

สงครามเริ่มต้น

วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2493 ทหารฝ่ายเกาหลีเหนืออาศัยอาวุธยุทโธปกรณ์ของโซเวียตบุกข้ามเส้นขนานที่ 38 ลงมา วันที่ 28 มิถุนายน ก็สามารถยึดกรุงโซลได้ สหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดีแฮร์รี เอส. ทรูแมน ได้สั่งการให้นายพลดักลาส แมกอาร์เทอร์ ผู้บัญชาการภาคพื้นแปซิฟิกในขณะนั้น ให้ทำการตอบโต้
วันที่ 5 กรกฎาคม ปีเดียวกัน กองทัพสหรัฐได้บุกเข้าสู่เกาหลีเหนือ
สหประชาชาติได้ลงมติให้ยกกองกำลังเข้าช่วยเหลือเกาหลีใต้ กองกำลังสหรัฐอเมริกาจึงเข้าร่วมกับกองกำลังของสหประชาชาติ ซึ่งประกอบด้วยกองกำลังของอีก 15 ชาติ (รวมประเทศไทย) ในตอนแรกนั้นดูเหมือนว่าฝ่ายสหประชาชาตินั้นจะเป็นฝ่ายที่ถอยร่นมาโดยตลอดเป็นเพราะทางสหรัฐมีการดำเนินนโยบายยุโรปก่อนจึงให้กำลังพลกับแมคอาเทอร์ไม่เต็มที่ ซึ่งทำให้แมคอาเทอร์โกรธมากจึงออกคำสั่งให้นำกำลังพลอเมริกันในแปซิฟิกมาใช้ก่อน หลังจากที่สหรัฐเริ่มให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เกาหลีเหนือก็ได้แต่ถอยร่นจนไปถึงเส้นขนานที่ 38

สงครามเย็น

สงครามเย็น (อังกฤษCold War) (พ.ศ. 2490-2534 หรือ ค.ศ. 1947-1991) เป็นการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มประเทศ 2 กลุ่ม ที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองและระบอบการเมืองต่างกัน เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ฝ่ายหนึ่งคือสหภาพโซเวียต เรียกว่า ค่ายตะวันออกซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ อีกฝ่ายหนึ่ง คือ สหรัฐอเมริกาและกลุ่มพันธมิตร เรียกว่า ค่ายตะวันตก ซึ่งปกครองด้วยระบอบเสรีประชาธิปไตย ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวทั้งสองฝ่ายได้แข่งขันในด้านการสะสมอาวุธ เทคโนโลยีอวกาศ การจารกรรม เศรษฐกิจ และทำสงครามผ่านสงครามตัวแทน

การใช้คำ

สงครามเย็นเป็นภาวะอย่างหนึ่งที่ประเทศมหาอำนาจทั้ง 2 ฝ่ายต่างแข่งขันกัน โดยพยายามสร้างแสนยานุภาพทางการทหารของตนไว้ข่มขู่ฝ่ายตรงข้าม โดยประเทศมหาอำนาจจะไม่ทำสงครามกันโดยตรง แต่จะสนับสนุนให้ประเทศพันธมิตรของตนเข้าทำสงครามแทน หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าสงครามตัวแทน (Proxy War) เหตุที่เรียก สงครามเย็น เนื่องจากเป็นการต่อสู้กันระหว่างมหาอำนาจ โดยใช้จิตวิทยา ไม่ได้นำพาไปสู่การต่อสู้ด้วยกำลังทหารโดยตรงอย่าง สงครามร้อน

การกำเนิดค่ายตะวันออก

ในช่วงท้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 สหภาพโซเวียตได้ก่อตั้งค่ายตะวันออก (Eastern Bloc) โดยการรวมรัฐที่ได้ยึดมาจากฝ่ายนาซี เช่น โปแลนด์ ลัตเวีย ลิทัวเนีย ฟินแลนด์ เอสโตเนีย โรมาเนีย แล้วจึงเปลี่ยนสถานะให้เป็นรัฐสังคมนิยมซึ่งอยู่ภายใต้การปกครองของสหภาพโซเวียต


ลำดับเหตุการณ์

นโยบายต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาและสหภาพโซเวียตในช่วงเวลาดังกล่าว คำนึงถึงสงครามเย็นเป็นหลัก นับจากปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ. 2490) จนกระทั่งการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ใน ค.ศ. 1991 (พ.ศ. 2534) สมัยเริ่มต้นสงครามเย็น น่าจะอยู่ในสมัยวิกฤตการณ์ทางการทูตในตอนกลางและปลาย ค.ศ. 1947 เมื่อสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตเกิดขัดแย้งเรื่องการจัดตั้งองค์การสันติภาพในตุรกี ยุโรปตะวันออกและเยอรมนี
ความตึงเครียดเนื่องจากการเผชิญหน้ากันระหว่างอภิมหาอำนาจ แต่ยังไม่มีการประกาศสงครามหรือใช้กำลัง เป็นสมัยลัทธิทรูแมน วันที่ 12 มีนาคม ค.ศ. 1947 กับประกาศแผนการมาร์แชลล์ เพื่อฟื้นฟูบูรณะยุโรปตะวันตกซึ่งได้รับความเสียหายจากสงครามโลกครั้งที่สอง การขยายอิทธิพลของโซเวียตในยุโรปตะวันออก และการแบ่งแยกเยอรมนี
การวิจัยและพัฒนาโครงการทางการทหารทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่จำนวนมาก เกิดขึ้นในในช่วงเวลานี้ รวมถึงการแข่งขันกันสำรวจอวกาศ และการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ด้วย ทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อแสดงแสนยานุภาพของฝ่ายตน

วันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2554

สงครามโลกครั้งที่ 2


สงครามโลกครั้งที่สอง (อังกฤษWorld War II หรือ Second World War; มักย่อว่า WWII หรือ WW2) เป็นความขัดแย้งทางทหารในระดับโลกตั้งแต่ ค.ศ. 1939 ถึง 1945 ซึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศส่วนใหญ่ในโลก รวมทั้งรัฐมหาอำนาจทั้งหมด ประเทศผู้ร่วมสงครามรวมตัวกันเป็นพันธมิตรทางทหารสองฝ่ายคู่สงคราม คือ ฝ่ายสัมพันธมิตรและฝ่ายอักษะ ระหว่างสงครามมีการระดมทหารมากกว่า 100 ล้านนาย ด้วยลักษณะของ "สงครามเบ็ดเสร็จ" ประเทศผู้ร่วมสงครามหลักได้ทุ่มเทขีดความสามารถทางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและวิทยาศาสตร์เพื่อความพยายามของสงครามทั้งหมด โดยไม่เลือกว่าทรัพยากรนั้นจะเป็นของพลเรือนหรือทหาร ประมาณกันว่าสงครามมีมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้วยประการทั้งปวง สงครามโลกครั้งที่สองจึงนับว่าเป็นสงครามขนาดใหญ่ที่สุด ใช้เงินทุนมากที่สุด และนองเลือดที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ ประเมินกันว่ามีผู้เสียชีวิตระหว่าง 40 ถึงมากกว่า 70 ล้านคน
โดยทั่วไปมักถือว่าสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้นหลังจากการรุกรานโปแลนด์ของเยอรมนี ในวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1939 ซึ่งนำไปสู่การประกาศสงครามต่อเยอรมนีของฝรั่งเศสและประเทศส่วนใหญ่ในจักรวรรดิอังกฤษและเครือจักรภพแห่งชาติ ภายในหนึ่งปี เยอรมนีมีชัยเหนือยุโรปตะวันตกเกือบทั้งหมด คงเหลือเพียงสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพที่ยังคงเป็นกำลังหลักที่ยังต่อกรกับเยอรมนีทั้งบนเกาะบริเตนและในการรบทางทะเลอย่างกว้างขวาง ใน ค.ศ. 1941 เยอรมนีได้รับชัยชนะในพื้นที่คาบสมุทรบอลข่านและเกาะครีต รวมทั้งได้ส่งทหารไปช่วยอิตาลีในทวีปแอฟริกา ตลอดจนส่งทหารรุกรานสหภาพโซเวียต ซึ่งนับว่าเป็นเขตสงครามภาคพื้นดินที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ฝ่ายจักรวรรดิญี่ปุ่นซึ่งกำลังทำสงครามกับจีนมาตั้งแต่ ค.ศ. 1937 ด้วยปรารถนาจะยึดครองเอเชียทั้งหมด จึงฉวยโอกาสโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์และส่งทหารรุกรานหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และขยายดินแดนออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
การรุกคืบของฝ่ายอักษะยุติลงใน ค.ศ. 1942 หลังจากความพ่ายแพ้ในญี่ปุ่นในยุทธนาวีมิดเวย์ และหลังจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายอักษะทวีปยุโรปในอียิปต์และที่สตาลินกราด ใน ค.ศ. 1943 จากความปราชัยของเยอรมนีที่เคิสก์ในยุโรปตะวันออก การรุกรานอิตาลีของฝ่ายสัมพันธมิตร ตลอดจนถึงชัยชนะของสหรัฐอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ทำลายการริเริ่มและส่งผลทำให้ฝ่ายอักษะล่าถอยทางยุทธศาสตร์ในทุกแนวรบ ใน ค.ศ. 1944 ฝ่ายสัมพันธมิตรเปิดแนวรบใหม่ในฝรั่งเศส เช่นเดียวกับสหภาพโซเวียตที่ยึดดินแดนคืนและรุกรานเยอรมนีและพันธมิตร
สงครามในทวีปยุโรปยุติลงหลังการยึดครองเบอร์ลินโดยกองทัพโซเวียต และการยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขของเยอรมนีเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ. 1945แม้จะถูกโดดเดี่ยวและตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบอย่างยิ่ง ญี่ปุ่นยังคงปฏิเสธที่จะยอมจำนน กระทั่งมีการทิ้งระเบิดนิวเคลียร์สองลูกถล่มญี่ปุ่น และการรุกรานแมนจูเรีย จึงได้นำไปสู่การยอมจำนนอย่างเป็นทางการของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 2 กันยายน ค.ศ. 1945
สงครามยุติลงด้วยชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตร ผลของสงครามได้เปลี่ยนแปลงการวางแนวทางการเมืองและโครงสร้างทางสังคมของโลก สหประชาชาติถูกสถาปนาขึ้น เพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและเพื่อป้องกันความขัดแย้งในอนาคต สหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตก้าวเป็นอภิมหาอำนาจของโลกอันเป็นคู่ปรปักษ์กัน นำไปสู่ความขัดแย้งบนเวทีแห่งสงครามเย็น ซึ่งได้ดำเนินต่อมาอีก 46 ปีหลังสงคราม ขณะเดียวกัน การยอมรับหลักการการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง เร่งให้เกิดการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา พร้อม ๆ กับที่หลายประเทศได้มุ่งหน้าฟื้นฟูเศรษฐกิจซึ่งอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายระหว่างสงคราม และบูรณาการทางการเมืองได้เกิดขึ้นทั่วโลกในความพยายามที่จะรักษาเสถียรภาพความสัมพันธ์หลังสงคราม

วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2554

สงครามโลกครั้งที่ 1


สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (อังกฤษ: World War I หรือ First World War) ซึ่งก่อน ค.ศ. 1939 ถูกเรียกว่า "สงครามโลก" หรือ "มหาสงคราม"(อังกฤษ: Great War) เป็นสงครามครั้งสำคัญที่อุบัติขึ้นโดยมีศูนย์กลางอยู่ในทวีปยุโรประหว่าง ค.ศ. 1914 - 1918 โดยประเทศมหาอำนาจทั้งหมดของโลกเข้าร่วมสงคราม แบ่งออกเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไตรภาคี) และฝ่ายมหาอำนาจกลาง โดยพบว่ามีทหารมากกว่า 70 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นชาวยุโรป 60 ล้านคน ถูกระดมเข้าสู่หนึ่งในสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์นี้ ทหารผู้เข้าร่วมสงครามเสียชีวิตมากกว่า 9 ล้านนาย สาเหตุหลักเพราะมีความก้าวหน้าในเทคโนโลยีด้านอำนาจการยิงโดยไม่สอดคล้องกับความก้าวหน้าในความสามารถในการเคลื่อนที่ เป็นสงครามที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในประวัติศาสตร์อันดับที่หก ผลจากสงครามทำให้มีผู้เสียชีวิต บาดเจ็บและสูญหาย รวมกันไม่ต่ำกว่า 40 ล้านคน
การลอบปลงพระชนม์อาร์คดยุคฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์แห่งออสเตรีย รัชทายาทแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ค.ศ. 1914 โดยกัฟรีโล ปรินซีป เป็นชนวนเหตุใกล้ชิดของสงคราม ส่วนสาเหตุระยะยาวนั้น เช่น นโยบายต่างประเทศแบบจักรวรรดินิยมของมหาอำนาจทั้งหลายในยุโรป อย่างจักรวรรดิเยอรมัน จักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี จักรวรรดิออตโตมัน จักรวรรดิรัสเซีย จักรวรรดิอังกฤษ ฝรั่งเศสและอิตาลี ก็เป็นสาเหตุสำคัญเช่นกัน การลอบปลงพระชนม์อาร์คดยุคเฟอร์ดินานด์ทำให้ออสเตรีย-ฮังการียื่นคำขาดแก่ราชอาณาจักรเซอร์เบีย พันธมิตรทั้งหลายซึ่งก่อตั้งขึ้นมาเมื่อหลายทศวรรษก่อนถูกดึงเข้ามาเกี่ยวข้อง ดังนั้น ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ มหาอำนาจทั้งหลายจึงอยู่ในสภาวะสงคราม และความขัดแย้งเริ่มขยายลุกลามไปทั่วโลกผ่านอาณานิคมต่าง ๆ
วันที่ 28 กรกฎาคม ความขัดแย้งเปิดฉากขึ้นเมื่อออสเตรีย-ฮังการีรุกรานเซอร์เบีย ตามด้วยการรุกรานเบลเยียม ลักเซมเบิร์กและฝรั่งเศสของเยอรมนี และการโจมตีเยอรมนีของรัสเซีย หลังจากการบุกโจมตีกรุงปารีสของเยอรมนีถูกทำให้หยุดชะงัก แนวรบด้านตะวันตกก็กลายสภาพเป็นการสู้รบที่หยุดนิ่งอยู่กับที่ด้วยแนวสนามเพลาะที่เปลี่ยนแปลงน้อยมากกระทั่ง ค.ศ. 1917 ในทางตะวันออก กองทัพรัสเซียสามารถเอาชนะกองทัพออสเตรีย-ฮังการี แต่ถูกบีบให้ถอยกลับโดยกองทัพเยอรมัน แนวรบเพิ่มเติมเปิดฉากขึ้นเมื่อจักรวรรดิออตโตมันเข้าสู่สงครามใน ค.ศ. 1914 อิตาลีและบัลแกเรียใน ค.ศ. 1915 และโรมาเนียใน ค.ศ. 1916 จักรวรรดิรัสเซียล่มสลายลงใน ค.ศ. 1917 และรัสเซียถอนตัวจากสงครามหลังการปฏิวัติเดือนตุลาคมในปีเดียวกัน หลังการรุกตามแนวรบด้านตะวันตกของเยอรมนีใน ค.ศ. 1918 กองทัพสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมสงครามและกองทัพสัมพันธมิตรสามารถผลักดันกองทัพเยอรมันกลับไปหลังได้รับชัยชนะติดต่อกันหลายครั้ง เยอรมนีตกลงหยุดยิงเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 1918 ซึ่งเป็นที่รู้จักกันในชื่อ วันสงบศึก
เมื่อสงครามยุติ รัฐจักรวรรดิใหญ่สี่รัฐ อันได้แก่ จักรวรดิเยอรมัน ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซียและออตโตมัน พ่ายแพ้ทั้งทางการเมืองและทางทหารและสิ้นสภาพไป เยอรมนีและรัสเซียสูญเสียดินแดนไปมหาศาล ส่วนอีกสองรัฐที่เหลือนั้นล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิง แผนที่ยุโรปกลางได้ถูกเขียนใหม่โดยมีประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ สันนิบาตชาติถูกก่อตั้งขึ้นด้วยหวังว่าจะป้องกันความขัดแย้งเช่นนี้มิให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ลัทธิชาตินิยมยุโรปเกิดขึ้นหลังสงรามและ
การสื้นสุดของจักรวรรดิรัสเซีย นำไปสู่การก่อตั้ง สหภาพโซเวียต อันเป็นผลมาจากการปฏิวัติรัสเซีย ต่อมา ได้มีการก่อตั้ง สันนิบาตชาติ เพื่อเป็นองค์การระหว่างประเทศที่มีจุดประสงค์เพื่อการแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศด้วยวิธีการทางการทูต แต่ทว่าจากลัทธิชาตินิยมที่เกิดขึ้นหลังสงครามและการแตกออกของจักรวรรดิทั้งหลาย ผลสะท้อนจากความพ่ายแพ้ของเยอรมนีและปัญหาของสนธิสัญญาแวร์ซาย เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าเป็นปัจจัยในการปะทุของสงครามโลกครั้งที่สอง